bih.button.backtotop.text

โรคภูมิแพ้ป้องกันได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์

ใครมีความเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้?
โรคภูมิแพ้ (Allergies) มีสาเหตุจากเรื่องพันธุกรรมและได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งปัจจัยทางพันธุกรรมมีบทบาทสำคัญมากเพราะทำให้เราสามารถประเมินความเสี่ยงของคนในครอบครัวและให้การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคหรือลดความรุนแรงได้  โดยปัจจัยพันธุกรรมจากแม่จะมีผลต่อลูกมากกว่าพ่อ เช่น ถ้าแม่เป็น โรคภูมิแพ้ โอกาสที่ลูกจะเป็นจะสูง ถึงร้อยละ 30 - 50 แต่ถ้าพ่อเป็นลูกมีโอกาสที่จะเป็นร้อยละ 30 หากพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ทั้งคู่โอกาสที่ลูกจะเป็นจะเพิ่มสูงถึงร้อยละ 70 พบว่ามารดาที่เป็นหอบหืดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบในเด็กได้ถึง 3 เท่า ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจากประวัติภูมิแพ้จากบิดาหรือพี่น้องอยู่ที่ 1.9 - 2.2 เท่า สำหรับความเสี่ยงในบุตรคนที่สอง หากบุตรคนแรกวินิจฉัยว่ามีโรคภูมิแพ้ พบอุบัติการณ์การแพ้อาหารร่วมกันในพี่และน้อง 13.6% จากเด็ก 1,834 คน โดยปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ในบุตรคนที่สอง คือ การมีโรคหอบหืดและโรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบร่วมด้วย

นอกจากนี้ในคนที่เป็นภูมิแพ้โรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งก็มักจะพบภูมิแพ้ชนิดอื่นร่วมด้วยในคนเดียวกัน และการดำเนินของโรคภูมิแพ้จะเกิดขึ้นตามวัย ที่เราเรียกว่า atopic march กล่าวคือ ในเด็กเล็กที่เป็นทารกมักจะเกิดแพ้อาหารหรือผื่นแพ้ผิวหนัง แต่เมื่อโตขึ้นการดำเนินของโรคก็จะทำให้เป็นโรคหืด และแพ้อากาศได้ ซึ่งหากเราสามารถป้องกันโรคภูมิแพ้ได้ตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์ด้วยการประเมินความเสี่ยง ปรับพฤติกรรมบางอย่าง รวมถึงให้อาหารที่เหมาะสมตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงทารกที่คลอดออกมาก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภูมิแพ้และการดำเนินของโรคได้

การประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ของทารกที่อยู่ในครรภ์ โดยดูจากประวัติภูมิแพ้ของคนในครอบครัวดังนี้

คะแนนประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคภูมิแพ้

คนในครอบครัว ชนิดและความรุนแรงของอาการภูมิแพ้ คะแนนรวม
โรคหลัก (1) โรครอง (2)
อาการชัดเจน ไม่แน่ใจ ไม่มีอาการ อาการชัดเจน ไม่แน่ใจ ไม่มีอาการ
พ่อ 2 1 0 1 0.5 0  
แม่ 3 2 0 1 0.5 0  
 

(1) โรคหลัก: โรคหืด, ผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้, จมูกอักเสบจากภูมิแพ้, แพ้นมวัว

(2) โรครอง: ลมพิษ, แพ้ยา, แพ้อาหารอื่น ๆ, เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้
 

คะแนนรวม คือ คะแนนสูงสุดของโรคหลักและโรครองมารวมกัน ถ้าคะแนน > 2 แสดงว่ามีความเสี่ยง

กล่าวโดยสรุปคือ กลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็กที่มีประวัติของญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ เช่น พ่อ แม่ และพี่  หรือใช้คะแนนประเมินความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ที่มีคะแนน > 2   

อย่างไรก็ตามถึงแม้ไม่มีประวัติครอบครัวเป็นภูมิแพ้เด็กก็สามารถเป็นภูมิแพ้ได้หากได้รับการกระตุ้นด้วยสารก่อภูมิแพ้ มลพิษ รวมถึงภาวะที่มารดาได้รับตั้งแต่ตั้งครรภ์ อาจมีผลเปลี่ยนแปลงของยีนที่ไม่เป็นภูมิแพ้ ให้เป็นภูมิแพ้ได้ (epigenetics)


การป้องกันโรคภูมิแพ้ในหญิงตั้งครรภ์

โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่ร่างกายมีความผิดปกติของระบบอิมมูน ที่ทำให้เกิดการตอบสนองไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น อาการของโรคภูมิแพ้ ได้แก่ โรคแพ้อากาศ หอบหืด ผื่นแพ้ผิวหนัง แพ้อาหาร สถานการณ์โรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคภูมิแพ้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะลดการเกิดโรคได้ 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ขึ้นมีอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก คือ พันธุกรรม การได้รับสารก่อภูมิแพ้ (allergens) และสภาพแวดล้อม ซึ่งอาหารที่เด็กได้รับตั้งแต่ช่วงตั้งท้องและให้นมอาจมีผลต่อระบบอิมมูนของร่างกายในการป้องกันภูมิแพ้ได้ (primary prevention)

เนื่องจากโรคนี้มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด ได้แก่ พันธุกรรม การที่หญิงตั้งครรภ์ได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม มลพิษ ควันบุหรี่ สารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่น ภาวะอ้วน ขาดวิตามินบางชนิด

คำแนะนำสำหรับมารดาตั้งครรภ์ ควรปฏิบัติดังนี้
 

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่ทั้งในขณะตั้งครรภ์
การที่ทารกสัมผัสบุหรี่ตั้งแต่ในครรภ์ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของปอดและการสัมผัสควันบุหรี่ทั้งขณะตั้งครรภ์ และหลังคลอดไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่โดยตรงจากมารดาหรือการสัมผัสควันบุหรี่จากคนอื่น ๆ ในบ้าน เพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้หอบ หายใจวี้ด และเกิดโรคหืดในเด็กได้ถึง 20-80%

คำแนะนำ หญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็กควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีควันบุหรี่
 
  1. หลีกเลี่ยงมลภาวะ Pollution
มลภาวะนอกบ้านหรือในบ้าน เช่น การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มลภาวะนอกบ้านสูง เช่น บ้านอยู่ติดถนน ภายในบ้านมีจุดธูป ยากันยุง เตาที่ไม่มีเครื่องดูดควัน หากหญิงตั้งครรภ์สัมผัสมลภาวะเหล่านี้ เช่น NO2, SO2, PM10 จะส่งผลให้บุตรเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหืดในเด็ก

คำแนะนำ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน ปิดประตูหน้าต่าง หากคุณภาพอากาศภายนอกบ้านเกินเกณฑ์มาตรฐาน ลดการก่อมลภาวะในบ้าน หรืออาจใช้เครื่องฟอกอากาศหากในบ้านมีความเสี่ยง
 
  1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้-ไรฝุ่น
ไรฝุ่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ ทำให้มีอาการภูมิแพ้ทางจมูกและหอบหืด จากงานวิจัยศึกษาติดตามไปข้างหน้าตั้งแต่แรกเกิดที่พ่อแม่มีประวัติเป็นภูมิแพ้ (birth cohort) พบว่าในเด็กทารกอายุ 2 - 3 เดือน  หากปริมาณไรฝุ่นในที่พักมากกว่า 10 ug/g มีอัตราการเกิดหายใจหอบวี้ด 5 เท่า และเกิดโรคหืด 3 เท่า

คำแนะนำ ซักผ้าปู ปลอกหมอน ผ้าห่มด้วยน้ำอุณหภูมิ 60 องศา นาน 30 นาที สัปดาห์ละครั้ง, ใช้ผ้าคลุมที่นอน ปลอกหมอนกันไรฝุ่น, จัดห้องนอนให้โล่งไม่ควรมีพรม, ตุ๊กตา
 
  1. อาหารที่แม่ควรรับประทานในระหว่างตั้งครรภ์

มีการศึกษาว่าหญิงตั้งครรภ์ที่รับประทานวิตามินดีลดความเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้ในลูกได้ เนื่องจากวิตามินดีปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มการดูดซึมแคลเซียม เสริมวิตามินดีได้ด้วยการกินไข่ แซลมอน ปลาทู นมวัว นอกจากนั้นเรายังเพิ่มวิตามินดีได้โดยออกไปรับแสงแดดบ้าง

นอกจากนี้กรดไขมันอิ่มตัวชนิดดีเช่น DHA หรือ EPA (n-3 polyunsaturated fatty acid) ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองของเด็ก และมีผลต่ออิมมูนทำให้ลดการอักเสบและอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวชนิดดี ได้แก่ ปลาจากทะเลน้ำลึก เมล็ดพืช หรือถั่วชนิดต่าง ๆ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ยังไม่มีการศึกษาที่เป็นแบบสุ่มชนิดที่มีกลุ่มควบคุม ที่แสดงให้เห็นผลชัดเจนในการให้อาหารเสริมสำหรับหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันภูมิแพ้ ดังนั้นคงต้องอาศัยหลายปัจจัยร่วมกัน

คำแนะนำ กินอาหารครบทั้ง 5 หมู่อย่างสมดุล ทานผัก ผลไม้ เพื่อช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์สุขภาพ  นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์ไม่จำเป็นต้องงดอาหารกลุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพ้ เช่น นมวัว ไข่ ถั่วลิสง เนื่องจากการงดอาหารในแม่ตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดภาวะการขาดสารอาหารได้ทั้งในแม่และทารกในครรภ์ และช่วงตั้งครรภ์ไม่ควรจะให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากจนเกินไปเพราะจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ในลูกได้

  1. จุลินทรีย์สุขภาพ (probiotic)
การเสริมจุลินทรีย์สุขภาพในช่วงตั้งครรภ์ ให้นมบุตรและหลังคลอดในทารกอาจช่วยลดโอกาสการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ในวัยทารกได้จนถึงอายุ 2 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิด ปริมาณและระยะเวลาในการรับประทานจุลินทรีย์สุขภาพที่อาจมีผลต่อประสิทธิภาพของการป้องกันโรค

คำแนะนำ อาหารที่มีผลต่อการเจริญเติบโตต่อจุลินทรีย์สุขภาพได้แก่  อาหารที่มีกากใยสูง ช่วยเพิ่มแบคทีเรียดีในลำไส้ ช่วยรักษาสมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน  เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโอ๊ต กระเทียม ถั่วแดง หากมีความจำเป็นต้องได้รับอาหารเสริม ควรปรึกษาแพทย์
 
  1. การคลอด
ในช่องคลอดของหญิงตั้งครรภ์นั้นประกอบด้วยเชื้อแบคทีเรียจำนวนมาก ซึ่งแบคทีเรียชนิดดีช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในช่องคลอดและมีผลต่อระบบอิมมูนของร่างกาย ดังนั้นในทารกที่คลอดโดยการผ่าท้องคลอดนั้นจะไม่ได้รับเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด (microbiome) ซึ่งอาจส่งผลถึงการสร้างภูมิคุ้มกันทำให้ภูมิคุ้มกันผิดปกติ จากหลักฐานที่มีในปัจจุบันไม่สามารถสรุปได้ว่า วิธีการคลอดมีผลต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ของทารก  แต่เริ่มมีแนวโน้มว่าการผ่าคลอดอาจจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ แต่อย่างไรก็ตามการผ่าตัดคลอดเป็นเพียงแค่ปัจจัยเพียงปัจจัยเดียวในหลายปัจจัยที่ทำให้เด็กเกิดโรคภูมิแพ้ เช่น กรรมพันธุ์, มลภาวะ, สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว ฯลฯ ดังนั้นการจะเลือกคลอดแบบใดนั้นควรคำนึงถึงข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เป็นหลักเพื่อให้ทารกที่คลอดมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์และมารดาที่คลอดนั้นปลอดภัยไม่มีข้อแทรกซ้อนระหว่างการคลอด
 
  1. ยาปฏิชีวนะ
ไม่ทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น เนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะในช่วงตั้งครรภ์หรือช่วงทารกแรกเกิด นั้นมีการศึกษาว่าส่งผลต่อการเกิดภูมิแพ้ เนื่องจากยาเหล่านี้ไปเปลี่ยนแปลงจุลินทรีย์ในร่างกาย (microbiome) หรืออาจส่งผลให้เกิดวิตามินดีพร่องในมารดา การศึกษาในปัจจุบันพบว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในช่วงตั้งครรภ์ มีรายงานการส่งผลต่อโรคภูมิแพ้ผิวหนัง หอบหืด แพ้นมวัวในลูก รวบรวมข้อมูลจากการศึกษาพบว่า การใช้ยาปฏิชีวนะในเด็กแรกเกิดช่วงอายุขวบปีแรกเพิ่มความเสี่ยงโรคหอบหืด 1.52 เท่า โดยเฉพาะหากใช้มากกว่า 3 - 4 courses ขึ้นไป และการใช้ยาปฏิชีวนะในมารดาช่วงตั้งครรภ์เพิ่มความเสี่ยงโรคหอบหืดในบุตร 1.24 เท่า
 
  1. การทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด
ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่าภาวะเครียดในมารดาที่ตั้งครรภ์ ส่งผลทำให้ลูกเป็นภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ เช่น โรคหืด ผื่นแพ้ผิวหนัง จมูกอักเสบภูมิแพ้  เนื่องจากภาวะจิตใจของคุณแม่นั้นมีผลต่อระบบอิมมูนของร่างกายของคุณลูกในครรภ์ทำให้เกิดเป็นภูมิแพ้ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ผลของความเครียดยังส่งผลทำให้เกิดการติดเชื้อง่าย โดยเฉพาะคนที่เป็นแพ้อากาศหรือโรคหืดจะส่งให้โรคภูมิแพ้อาการกำเริบได้และอาจเป็นหวัดบ่อยจนนำมาสู่การเป็นไซนัสอักเสบ อาการที่จะช่วยสังเกตุว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มีภาวะซึมเศร้าหรือไม่คือ ท่านมีอาการเศร้า หงุดหงิด เบื่ออาหาร หดหู่ นอนไม่หลับ เป็นต้น
 
  1. การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายในหญิงตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญควรปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเสริมสร้างความสมดุลทางสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ สำหรับการออกกำลังกายในหญิงที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือข้อบ่งห้าม ควรส่งเสริมให้ปฏิบัติตลอดการตั้งครรภ์ สำหรับในรายที่มีข้อจำกัดควรประเมินและจัดกิจกรรมการออกกำลังกายภายใต้การดูแลของบุคลากรทางสุขภาพอย่างใกล้ชิดเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
 

การกินนมแม่และการเริ่มอาหารเสริมในการป้องกันโรคภูมิแพ้

ควรให้นมแม่อย่างน้อย 4 - 6 เดือน สำหรับการให้อาหารเสริมเริ่มช่วง อายุ 4 - 6 เดือน เมื่อเด็กมีพัฒนาการที่พร้อมคือ นั่งโดยมีการพยุงและคอแข็ง โดยกุมารแพทย์มักแนะนำให้เริ่มทีละชนิด และสังเกตอาการอย่างน้อย 3 - 5 วัน
 

แนวทางในการป้องกัน อายุ
การกินนมแม่ อย่างน้อยนาน  4-6 เดือน

การเริ่มอาหารเสริม
  • เริ่มอาหารใหม่ทีละชนิดทุก 3-5 วัน
  • ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณของอาหาร
  • เริ่มด้วยข้าว ผัก ผลไม้แล้วจึงตามด้วยเนื้อสัตว์ที่เหมาะสมกับอายุ
  • ถ้าเป็นไปได้ควรให้กินอาหารที่ทำเอง
ตั้งแต่อายุ 4 และก่อนอายุ 6 เดือน
การเริ่มอาหารที่มีโอกาสทำให้เกิดการแพ้ได้สูง ได้แก่ นมวัว ถั่วเหลือง ไข่ แป้งสาลี ถั่วลิสงและถั่วเปลือกแข็งอื่น ๆ ปลาและอาหารทะเลอื่น ๆ
ควรเริ่มหลังอายุ 4 เดือนถึง 6 เดือนหลังจากที่กินอาหารเสริมอื่น ๆ ได้และไม่มีความผิดปรกติ
* ควรหยุดกินอาหารนั้นทันทีถ้ามีอาการผิดปรกติและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้
 
  • ควรหลีกเลี่ยงการกิน Whole cow’s milk ในขวบปีแรกเนื่องจากมีผลต่อการทำงานของไต และมีธาตุเหล็กต่ำ
  • ถั่วที่เป็นเม็ดทั้งหลายควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากอาจเกิดอันตรายในการสำลักเข้าหลอดลม
  • อาหารทะเลอื่น ๆ ยกเว้นปลา ควรให้เริ่มหลังอายุ 1 ปี


นมสูตรพิเศษในการป้องกันภูมิแพ้
คำแนะนำ
  • 100% Partially hydrolyzed whey formulas และ extensively hydrolyzed casein formulas ที่มีผลงานวิจัยรองรับว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ และการแพ้โปรตีนนมวัว เมื่อนำมาใช้แทนนมวัวสูตรปกติ
  • ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอในการสนับสนุนการใช้นมถั่วเหลือง นมแพะ หรือนมสูตรกรดอะมิโนในการป้องกันโรคภูมิแพ้
  • ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าการใช้นมสูตรพิเศษ มีประสิทธิภาพเหนือกว่าการกินนมแม่ ในการป้องกันโรคภูมิแพ้
 

เรียบเรียงโดย ศ.ดร.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล  ศูนย์สูติ-นรีเวช                

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 02 มิถุนายน 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs