มะเร็งเต้านม พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในผู้หญิง การตรวจพบมะเร็งในระยะแรกจะช่วยให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูง ซึ่ง ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านมอาจเกิดจาก
- อายุ ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
- มีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่ง มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดก้อนมะเร็งอีกข้าง
- มีประวัติการเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งรังไข่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสฮอร์โมน จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น
- การกลายพันธุ์ของยีน BRCA 1 หรือ BRCA 2 มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม สามารถตรวจการกลายพันธุ์ของยีนนี้ได้ โดยการตรวจเลือดหรือเนื้อเยื่อ
- การสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศ การสัมผัสกับเอสโตรเจนเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม
- ลักษณะของการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ความอ้วน ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การได้รับรังสีในปริมาณสูง
ซึ่งในบางครั้งผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม อาจจะไม่มีอาการของมะเร็งเต้านม หรือบางครั้งอาการเหล่านี้อาจไม่ใช่โรคมะเร็งก็ได้ ดังนั้น ถ้ามีอาการต่อไปนี้ ควรจะไปพบแพทย์
- การคลำก้อนได้ที่เต้านมหรือใต้แขน
- บริเวณหัวนมบุ๋ม มีน้ำเหลือง หรือมีแผลบริเวณหัวนม
- เต้านมมีอาการผื่นแดง ร้อน ผื่นคล้ายผิวส้ม
- มีอาการปวดบริเวณเต้านม
นอกจากนี้ การตรวจประเมินเบื้องต้นจะช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะต้นๆ ซึ่งจะส่งผลให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จสูง โดยการตรวจประเมินมะเร็งเต้านมเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้
- การคลำเต้านมด้วยตนเอง
- การตรวจด้วยวิธีแมมโมแกรม (Mammogram) แนะนำให้ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจทุก 1-2 ปี
- การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์และ MRI จะใช้ในกรณีที่ผลของ แมมโมแกรม ตรวจพบความผิดปกติและต้องการตรวจหาเพื่อให้แน่ชัดยิ่งขึ้น
เรียบเรียงโดย นพ. หฤษฎ์ สุวรรณรัศมี อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 01 มิถุนายน 2566