การผ่าตัดทางนรีเวชด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (robotic-assisted gynecologic surgery) เป็นทางเลือกหนึ่งของการผ่าตัดรักษาความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานสตรี โดยการนำเอาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเข้ามาใช้เพื่อให้การผ่าตัดแบบแผลเล็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โรคทางนรีเวช หมายถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานสตรีซึ่งได้แก่ มดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ ปากมดลูก และช่องคลอด โดยผู้ป่วยมักมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอาการร่วมกันดังนี้คือ ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง ปวดประจำเดือนมากผิดปกติ มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ตกขาวผิดปกติ คลำพบก้อนในอุ้งเชิงกราน ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น มามากหรือน้อยเกินไป ประจำเดือนขาดหายโดยไม่ได้ตั้งครรภ์
ทางเลือกในการผ่าตัดรักษาโรคทางนรีเวช
โรคทางนรีเวชที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาหรือด้วยวิธีอื่นใด แพทย์อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งสามารถทำได้ 3 วิธี คือ
- การผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบดั้งเดิม (open surgery) เป็นการผ่าตัดเปิดแผลขนาดใหญ่ต้องใช้เวลาพักฟื้นค่อนข้างนาน เนื่องจากเจ็บแผลผ่าตัดมากกว่า
- การผ่าตัดแบบแผลเล็กด้วยวิธีการส่องกล้อง (gynecologic laparoscopic surgery) เป็นการผ่าตัดโดยสอดกล้องผ่านเข้าไปในช่องท้อง แผลผ่าตัดจึงมีขนาดเล็กทำให้กระทบกระเทือนต่ออวัยวะภายในน้อยทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดลงได้ ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า และมีความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
- การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดด้วยระบบดาวินชี (robotic–assisted da Vinci surgical system) เป็นวิธีการผ่าตัดที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความแม่นยำ และปลอดภัยให้กับการผ่าตัดที่มีความสลับซับซ้อนหรืออยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงยาก แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเช่นเดียวกับการผ่าตัดผ่านกล้อง
โรคทางนรีเวชที่ใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดได้
โรคทางนรีเวชที่สามารถผ่าตัดรักษาได้ด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ได้แก่
ขั้นตอนการผ่าตัด
หลังจากได้รับยาระงับความรู้สึกและใส่ท่อช่วยหายใจโดยวิสัญญีแพทย์แล้ว ผู้ป่วยจะถูกจัดให้อยู่ในท่านอนหงายศีรษะต่ำ ศัลยแพทย์จะใส่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในช่องท้องเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับการผ่าตัดและทำให้มองเห็นอวัยวะภายในได้ชัดเจนขึ้น แขนกลหุ่นยนต์ที่อยู่ด้านข้างเตียงผู้ป่วยจะทำหน้าที่สอดใส่กล้องและเครื่องมือผ่าตัดเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็ก 4 ตำแหน่งบริเวณผนังหน้าท้อง
ขณะผ่าตัด ศัลยแพทย์จะนั่งประจำในส่วนควบคุมสั่งการ (console) ที่อยู่ภายในห้องผ่าตัด และทำการผ่าตัดผ่านจอภาพที่แสดงให้เห็นอวัยวะในอุ้งเชิงกรานแบบ 3 มิติจากกล้องที่มีความคมชัดและกำลังขยายสูง ขณะที่ระบบคอมพิวเตอร์จะถ่ายทอดสัญญาณการเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์จากมือ ข้อมือ และนิ้วของแพทย์ไปยังเครื่องมือผ่าตัดที่ติดอยู่กับแขนกลหุ่นยนต์
สำหรับขั้นตอนโดยละเอียดและระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค
รวมถึงสภาพร่างกายของผู้ป่วย เมื่อสิ้นสุดการผ่าตัดภายในร่างกายผู้ป่วย เครื่องมือผ่าตัดและกล้องจะถูกนำออกจากร่างกาย จากนั้นศัลยแพทย์จะทำการปิดแผลและดูแลความเรียบร้อยเป็นขั้นตอนสุดท้าย
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด
ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินสภาพก่อนผ่าตัด โดยประมวลข้อมูลจากการทบทวนประวัติ การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจร่างกายทางนรีเวช และผลการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ร่วมกับการประเมินความเสี่ยงทางอายุรกรรมต่อการผ่าตัด นอกจากนี้ผู้ป่วยจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการให้ยาระงับความรู้สึก ขั้นตอนการผ่าตัด การดูแลหลังผ่าตัด และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
ผู้ป่วยจะต้องเข้าพักในโรงพยาบาล 1 วันก่อนผ่าตัดเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อม เช่น ควบคุมความดันเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด สมดุลของสารน้ำและเกลือแร่ รักษาภาวะติดเชื้อ เป็นต้น
ผู้ป่วยจะต้องงดน้ำและอาหาร 8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัดเพื่อป้องกันการสูดสำลักเศษอาหารเข้าปอด ในการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์จะใช้วิธีระงับความรู้สึกโดยการดมยาสลบ
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
- ภาวะการเสียเลือด ซึ่งอาจต้องให้เลือดขณะผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด
- ภาวะการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด
- มีเลือดออกจากแผลผ่าตัดทางหน้าท้อง หรือทางช่องคลอด
- เกิดอันตรายต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ท่อไต
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการระงับความรู้สึก เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อึดอัดแน่นท้อง ปวดหัวไหล่หน่วงๆ คล้ายปวดเมื่อยเนื่องจากลมในช่องท้องไปดันกะบังลม เป็นต้น
การปฏิบัติตนภายหลังการผ่าตัด
- หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถลุกจากเตียงได้ทันทีที่ตื่นและเอาสายสวนปัสสาวะออก ควรลุกเดินบ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีพังผืดในช่องท้อง
- ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารอ่อนได้เมื่อลำไส้เริ่มทำงานแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์
- ผู้ป่วยจะได้รับยาบรรเทาอาการปวด และคำแนะนำในการจัดการกับอาการปวด
- ระยะเวลาที่ใช้พักฟื้นในโรงพยาบาล ประมาณ 2-3 วัน ในกรณีที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น
- เมื่อผู้ป่วยได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน แพทย์จะนัดตรวจหนึ่งสัปดาห์หลังการผ่าตัดเพื่อประเมินผลการผ่าตัด
- ระยะเวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดประมาณ 1-2 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับโรคที่เข้ารับการผ่าตัด
ข้อดีของการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด
การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมีข้อดีเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดเปิดแผลใหญ่แบบธรรมดา และการผ่าตัดแบบส่องกล้องดังนี้ คือ
- การผ่าตัดมีความแม่นยำและปลอดภัยอย่างมาก เนื่องจากศัลยแพทย์สามารถมองเห็นภาพอวัยวะภายในได้อย่างชัดเจนด้วยระบบภาพขยาย 3 มิติที่มีความคมชัดสูง
- เครื่องมือผ่าตัดที่ติดอยู่กับแขนกลหุ่นยนต์สามารถเคลื่อนไหวโค้งงอและหมุนได้ถึงเจ็ดทิศทาง ทั้งยังเคลื่อนไหวในตำแหน่งที่คับแคบเข้าถึงยากได้อย่างอิสระมากกว่ามือมนุษย์ และมากกว่าเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดแบบส่องกล้องธรรมดาซึ่งหมุนได้เพียงสี่ทิศทาง จึงให้ผลสำเร็จของการรักษาที่ดีกว่า
- มีระบบควบคุมอาการมือสั่นของศัลยแพทย์ ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำมากกว่า
- เป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (minimally invasive surgery) รอยแผลเป็นจากการผ่าตัดจึงมีขนาดเล็กมาก
- ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย มีระดับความเจ็บปวดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
- ลดภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อของแผลผ่าตัด การบวมน้ำ
- ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น ทำให้ระยะเวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นลง และสามารถกลับไปกิจกรรมตามปกติได้เร็วขึ้น
เรียบเรียงโดย
นพ. ฉันทวัฒน์ เชนะกุล แพทย์ผู้ชำนาญการสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา, มะเร็งนรีเวชวิทยา, การผ่าตัดด้วยกล้อง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 13 พฤษภาคม 2565