ต้อกระจก คืออะไร?
เลนส์ตา ถือเป็นส่วนสำคัญของดวงตา มีหน้าที่รวมแสงให้ตกลงบนจอประสาทตา ซึ่งจะทำให้เกิดสัญญาณส่งไปยังสมอง แปลเป็นภาพออกมาให้เราเห็น โดยปกติแล้วเลนส์ตาจะมีลักษณะใส เราจึงมองเห็นได้อย่างชัดเจน แต่หากเลนส์ตาเสื่อมสภาพจนมีความขุ่นมัวเกิดขึ้น ทำให้บดบังแสงที่จะผ่านเข้าไปในตา แสงจึงส่งผ่านไปยังจอประสาทตาไม่เต็มที่ ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนหรือมีอาการตามัวได้ โดยเราเรียกภาวะที่เลนส์ตาขุ่นมัวนี้ว่า
ต้อกระจก (Cataract)
อาการของต้อกระจก มีอะไรบ้าง?
ต้อกระจกในระยะเริ่มแรก อาจไม่มีอาการแสดงใดๆ แต่หากเลนส์ตามีความขุ่นมัวมากขึ้น อาจพบอาการดังต่อไปนี้ได้
- ตามัว มองเห็นไม่ชัดเจน
- การมองเห็นในตอนกลางคืนแย่ลง
- ต้องใช้แสงสว่างมากขึ้นในการอ่านหนังสือ หรือการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องเพ่งสายตา
- มองเห็นแสงไฟกระจาย
- สายตาไวต่อแสงจ้า
- ระดับค่าสายตาเปลี่ยนบ่อย สายตาสั้นมากขึ้น
- มองเห็นสีผิดเพี้ยนไปจากเดิม ภาพที่เห็นมีสีซีดจางหรือมีสีเหลือง
- มองเห็นภาพซ้อน
ต้อกระจก มีสาเหตุมาจากอะไร?
ต้อกระจก เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของเลนส์ตาตามอายุ ส่วนมากพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่อาจมีปัจจัยบางอย่างที่ส่งเสริมให้เกิดต้อกระจกก่อนวัยได้ ดังนี้
- โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
- โรคเกี่ยวกับตา เช่น ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ
- การเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา หรือดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนบ่อยๆ
- การได้รับแสงอัลตราไวโอเลตเข้าตาเป็นเวลานานๆ
- การสูบบุหรี่
- การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป
- การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน
- การฉายแสงรักษาโรคบริเวณที่ใกล้ดวงตา
- กรรมพันธุ์
- ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น เด็กแรกเกิดที่มารดาเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์
การวินิจฉัยโรคต้อกระจก
จักษุแพทย์ต้องตรวจวินิจฉัยดวงตาอย่างละเอียด เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าสาเหตุที่ทำให้สายตาขุ่นมัวนั้นมาจากต้อกระจก หรือมาจากโรคตาชนิดอื่นๆ
เราสามารถป้องกันการเกิดต้อกระจกได้อย่างไร?
การปรับพฤติกรรมบางอย่าง หรือหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดต้อกระจกดังที่กล่าวไปข้างต้น จะช่วยป้องกันและชะลอการเกิดต้อกระจกได้
- ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์
- พบแพทย์ และใช้ยาเพื่อรักษาโรคประจำตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
- สวมแว่นกันแดดที่กรองแสงอัลตราไวโอเลต ไม่จ้องมองดวงอาทิตย์โดยตรง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ไม่สูบบุหรี่
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากๆ
- หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตา อย่าให้ดวงตาโดนกระแทก
การรักษาต้อกระจก ทำอย่างไรได้บ้าง?
ในปัจจุบันยังไม่มียารับประทานหรือยาหยอดตาตัวใด ที่สามารถรักษาต้อกระจกให้หายขาดหรือลดลงได้ ยาหยอดตาที่แพทย์ที่นิยมสั่งใช้ในผู้ที่เพิ่งเริ่มเป็นต้อกระจกหรือเป็นน้อยอยู่ เช่น ยา Pirenoxine ช่วยได้เพียงชะลอการเสื่อมของเลนส์ตาเท่านั้น หรือในรายที่มีอาการแทรกซ้อนจากต้อกระจก แพทย์อาจให้การรักษาตามสาเหตุนั้นๆ เช่น ให้ยาลดความดันลูกตาในผู้ที่เป็นต้อหิน หรือให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ในผู้ที่เป็นโรคม่านตาอักเสบ
การรักษาต้อกระจกให้หายขาดทำได้โดยการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะทำการผ่าตัดนำเลนส์ตาที่ขุ่นออก แล้วใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่ โดยทั่วไปการผ่าตัดเหมาะกับผู้ที่สายตาขุ่นมัวมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือผู้ที่ต้อกระจกเป็นมากจนอาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ต้อหิน ม่านตาอักเสบ เกิดตามมา ผู้ที่เป็นต้อกระจกควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรักษาต้อกระจกที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อให้การรักษานั้นมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399 Email: [email protected]
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: