bih.button.backtotop.text

วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์... อาวุธใหม่ของการป้องกันเชื้อไวรัส HPV

    

 

201101_Bumrungrad-IDM_Cervical-Cancer-Awareness-Campaign_Carousel_Thai_C.jpg

 

เชื้อไวรัส HPV คืออะไร?
เชื้อไวรัส HPV หรือ Human Papillomavirus เป็นเชื้อไวรัสที่มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่มีประมาณ 40 สายพันธุ์ ที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ ที่รู้จักกันดีคือ HPV สายพันธุ์ 6 และ 11 ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหูดหงอนไก่ หรือ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และมะเร็งทวารหนัก

ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวิธีการใดๆ ที่ใช้รักษาการติดเชื้อไวรัส HPV แต่เราสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสนี้ได้ด้วยการฉีดวัคซีน HPV โดยวัคซีนที่มีจำหน่ายในประเทศไทยแต่เดิมมีด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่
  • วัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ (ครอบคลุมสายพันธุ์ 16 และ 18)
  • วัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ (ครอบคลุมสายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18)
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ประเทศไทยเราได้มีวัคซีน HPV ตัวใหม่เข้ามาจำหน่ายในท้องตลาด คือ วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

 

วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ คืออะไร?
วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ (Human Papillomavirus 9-valent Vaccine) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายที่พัฒนามาจากวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ ใช้สำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV 9 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ในผู้หญิงและผู้ชาย ที่มีอายุตั้งแต่ 9 ถึง 45 ปี

 
วัคซีนนี้สามารถป้องกันการเกิดโรคอะไรได้บ้าง?
วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ สามารถป้องกันการเกิดโรคในผู้หญิงและผู้ชาย ดังนี้
 
ผู้หญิง อายุตั้งแต่ 9-45 ปี ผู้ชาย อายุตั้งแต่ 9-45 ปี
  • มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งช่องปากและลำคอ (จาก HPV สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58)
  • การเกิดรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง (Precancerous lesion) ของมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งทวารหนัก (จาก HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58)
  • หูดหงอนไก่ (จาก HPV สายพันธุ์ 6 และ 11)
  • มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งช่องปากและลำคอ (จาก HPV สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58)
  • การเกิดรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง (Precancerous lesion) ของมะเร็งทวารหนัก (จาก HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58)
  • หูดหงอนไก่ (จาก HPV สายพันธุ์ 6 และ 11)
 

 

วัคซีนนี้เหมาะกับใคร?
วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ สามารถฉีดได้ในผู้หญิงและผู้ชาย อายุตั้งแต่ 9 ถึง 45 ปี อย่างไรก็ดี การได้รับวัคซีนก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกและร่างกายอยู่ในวัยที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีจะทำให้ได้รับประสิทธิภาพจากวัคซีนสูงสุด ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แล้วก็สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่ประสิทธิภาพอาจจะลดลงและได้ผลดีไม่เท่ากับผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์

 
วัคซีนนี้มีวิธีการฉีดอย่างไร?
การฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ เป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขนหรือต้นขา โดยจำนวนเข็มของวัคซีนที่ท่านต้องฉีดนั้น ขึ้นอยู่กับช่วงอายุที่ฉีดวัคซีน ดังตาราง
 
ช่วงอายุ จำนวนเข็มที่ฉีด วิธีการฉีดวัคซีน
9-14 ปี* 2 เข็ม** เข็มที่ 1: วันที่ต้องการฉีด
เข็มที่ 2: หลังจากเข็มแรก 5-13 เดือน
  3 เข็ม เข็มที่ 1: วันที่ต้องการฉีด
เข็มที่ 2: หลังจากเข็มแรก 2 เดือน
เข็มที่ 3: หลังจากเข็มแรก 6 เดือน
15-45 ปี 3 เข็ม เข็มที่ 1: วันที่ต้องการฉีด
เข็มที่ 2: หลังจากเข็มแรก 2 เดือน
เข็มที่ 3: หลังจากเข็มแรก 6 เดือน

* แพทย์จะพิจารณาจำนวนเข็มของวัคซีนที่ต้องฉีดตามความเหมาะสม
** หากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรกเป็นเวลาน้อยกว่า 5 เดือน ต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพิ่ม

 
อาการข้างเคียงที่พบได้จากวัคซีนนี้
โดยทั่วไปมักไม่ค่อยพบอาการข้างเคียงที่รุนแรง อาจมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยเกิดขึ้นได้ เช่น ปวด บวม หรือแดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ซึ่งเกิดขึ้นชั่วคราวและหายได้เอง

 

ข้อห้ามของการฉีดวัคซีนนี้
ห้ามฉีดวัคซีนในผู้ที่มีอาการแพ้ยาหลังได้รับวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ หรือชนิด 4 สายพันธุ์ ในครั้งก่อน หรือแพ้ส่วนประกอบตัวใดตัวหนึ่งของวัคซีน รวมถึงผู้ที่แพ้ยีสต์อย่างรุนแรง

นอกจากนี้ ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ในหญิงตั้งครรภ์ แม้ว่าจะไม่มีรายงานถึงผลเสียต่อทารกในครรภ์และต่อหญิงตั้งครรภ์ หากยังฉีดวัคซีนไม่ครบแล้วเกิดการตั้งครรภ์ แนะนำให้หยุดการฉีดวัคซีนไว้ก่อน และมาฉีดต่อให้ครบ 3 เข็ม หลังคลอดบุตรแล้ว อย่างไรก็ตาม วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ สามารถฉีดได้ในหญิงให้นมบุตร

 
หากเคยได้รับการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์ มาแล้วครบ 3 เข็ม สามารถฉีดวัคซีนนี้ได้อีกหรือไม่?
จากการศึกษาทางคลินิกพบว่า การฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ หลังจากที่ได้รับการฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์ มาแล้วครบ 3 เข็ม นั้นมีความปลอดภัย โดยเว้นระยะออกไปประมาณ 1 ปี หลังจากที่ฉีดวัคซีน HPV ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์ ครั้งสุดท้าย และจำเป็นต้องฉีดวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ให้ครบชุดใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมและความจำเป็นในการฉีดวัคซีนนี้ของท่านอีกครั้งหนึ่ง


หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง


 
 
201101_Bumrungrad-IDM_Cervical-Cancer-Awareness-Campaign_Carousel_Japane.jpg
 

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:



แก้ไขล่าสุด: 20 พฤษภาคม 2567

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs