ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์คืออะไร?
ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ในระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดงใดๆ แต่ต่อมาอาจแสดงอาการต่างๆ เช่น มีภาวะอ้วน การทำงานของหัวใจผิดปกติ ปวดตามข้อต่างๆ หรือเกิดภาวะมีบุตรยาก โดยวิธีการที่นิยมใช้ในการวินิจฉัยภาวะนี้ คือ การตรวจวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด (Thyroid function test)
ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์มีอาการอย่างไร?
อาการของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ขึ้นกับความรุนแรงของการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ โดยการดำเนินไปของภาวะนี้เป็นไปอย่างช้าๆ ใช้เวลาหลายปีถึงแสดงอาการ ซึ่งอาการที่อาจพบได้ มีดังนี้
- อ่อนเพลีย
- ขี้หนาว
- ท้องผูก
- ผิวแห้ง
- น้ำหนักขึ้น
- ใบหน้าบวมโต
- เสียงแหบ
- ไม่มีแรง
- ปวดกล้ามเนื้อ
- คอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น
- ปวดตึงข้อ ข้อแข็งขยับได้น้อยลง บวมบริเวณข้อ
- ประจำเดือนผิดปกติ
- ผมแห้ง ผมบางลง
- หัวใจเต้นช้าลง
- มีอาการซึมเศร้า
- ความสามารถในการจำลดลง
ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์มีสาเหตุมาจากอะไร?
สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์มาจากการที่ต่อมไทรอยด์ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้หรือสร้างได้น้อย แต่อาจมีสาเหตุจากปัจจัยอื่นๆ ดังนี้
- Hashimoto's thyroiditis: โรคนี้จัดเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองชนิดหนึ่ง เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายผลิตแอนติบอดีออกมาเป็นจำนวนมาก แล้วมาทำลายเนื้อเยื่อต่างๆ รวมถึงต่อมไทรอยด์ของเราเอง
- การตอบสนองที่มากเกินไปในการรักษาภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์: พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป ซึ่งมักจะได้รับการรักษาด้วยการกลืนสารไอโอดีนกัมมันตรังสี หรือรับประทานยาต้านไทรอยด์
- การผ่าตัดต่อมไทรอยด์
- การใช้รังสีรักษา (Radiation therapy) ในผู้ป่วยโรคมะเร็งบริเวณศีรษะหรือลำคอ
- ยาบางชนิด เช่น Lithium ซึ่งใช้รักษาโรคทางจิตเวช
- โรคที่เป็นมาแต่กำเนิด เช่น โรคต่อมใต้สมองพิทูอิตารี (Pituitary disorder)
- การตั้งครรภ์
- ภาวะขาดไอโอดีน
กลุ่มเสี่ยงของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์มีอะไรบ้าง?
แม้ว่าทุกคนจะมีโอกาสการเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ แต่จะมีโอกาสมากขึ้นถ้าหาก
- เป็นเพศหญิง
- อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
- มีโรคแพ้ภูมิตัวเอง
- มีประวัติได้รับรังสีรักษา หรือรับยาต้านไทรอยด์ หรือรับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์
- กำลังตั้งครรภ์ หรือภายใน 6 เดือนหลังคลอด
อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหากไม่รีบไปพบแพทย์?
- ต่อมไทรอยด์โต (Goiter)
- โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด
- ปัญหาทางด้านสุขภาพจิต
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนปลาย เช่น การควบคุมกล้ามเนื้อแขนขา เกิดอาการเหน็บชา หรือรู้สึกเหมือนมีของมีคมทิ่มแทง
- โรค Myxedema เป็นโรคที่พบได้น้อย แต่มีความรุนแรง โดยมีอาการคือ ไม่สามารถทนต่อความหนาวได้ ง่วงซึม อาจถึงขั้นหมดสติได้
- เกิดภาวะมีบุตรยาก
การตรวจเลือดสำหรับวินิจฉัยภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์
การวินิจฉัยภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ขึ้นกับอาการที่แสดง และผลการตรวจเลือด โดยวัดระดับฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (Thyroid-stimulating hormone, TSH) และอาจวัดระดับของฮอร์โมนไทรอยด์โดยตรง (Thyroxine) โดยผลตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดที่แสดงถึงภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ คือ การที่มีระดับ Thyroxine ที่ต่ำ และมีระดับ TSH ที่สูง ซึ่งแสดงถึงการไม่ตอบสนองของต่อมไทรอยด์
การรักษาภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ทำอย่างไรได้บ้าง?
การรักษาภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์โดยทั่วไปเป็นการให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน ที่นิยมใช้กันเป็นฮอร์โมนไทรอยด์สังเคราะห์ (Levothyroxine) ซึ่งให้ผลการรักษาที่ค่อนข้างดี แต่จำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้ประเมินและตรวจเป็นระยะๆ เนื่องจากหากได้รับปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ได้
เมื่อไหร่ที่ควรจะพบแพทย์?
หากรู้สึกเพลีย เหนื่อย แบบไม่มีสาเหตุมาก่อน หรือมีอาการของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ดังที่กล่าวข้างต้น เช่น ผิวแห้งมาก ซีด ใบหน้าบวมโต
ท้องผูก หรือมีเสียงแหบ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นเพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399 Email:
[email protected]
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 01 กรกฎาคม 2567