bih.button.backtotop.text

การรักษาภาวะไตวาย

ถ้าโรคไตเรื้อรังอาการแย่ลงจนเกิดภาวะไตวาย มีแนวทางการรักษา 2 ทางคือ การฟอกเลือดกับการปลูกถ่ายไต การรักษานี้จะช่วยให้มีสุขภาพที่ดีและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

การฟอกเลือด
การฟอกเลือดเป็นการนำเอาของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากเลือดของผู้ป่วย การฟอกเลือดมี 2 ประเภท คือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) และการฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวร (continuous ambulatory peritoneal dialysis: CAPD)
 

การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis)

การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) เป็นการนำของเสียและน้ำออกจากเลือด โดยเลือดจะออกจากตัวผู้ป่วยทางเส้นเลือดดำ แล้วผ่านตัวกรองซึ่งในตัวกรองจะมีเนื้อเยื่อที่จะช่วยกรองของเสียและน้ำออกจากเลือด เมื่อเลือดผ่านตัวกรองแล้วจะกลายเป็นเลือดดี เครื่องจะนำเลือดนั้นกลับสู่ร่างกาย ในการฟอกเลือดแต่ละครั้งต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ชม. หรือมากกว่า และต้องทำการฟอกเลือดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
 
ก่อนการฟอกเลือดต้องมีการทำการตัดต่อเส้นเลือดเพื่อใช้ในการฟอกเลือด ซึ่งมี 3 วิธีคือ
  1. การนำเส้นเลือดดำต่อกับเส้นเลือดแดงบริเวณแขนหรือเรียกว่าการทำ AV fistula เพื่อให้เส้นเลือดดำใหญ่ขึ้น และมีแรงดันพอที่จะทำให้เลือดไหลเข้าสู่เครื่องไตเทียมได้
  2. การต่อเส้นเลือดดำกับเส้นเลือดแดงของผู้ป่วยโดยการใช้เส้นเลือดเทียมหรือ AV graft
  3. การใส่สายเข้าไปในเส้นเลือดดำขนาดใหญ่เพื่อใว้สำหรับต่อกับเครื่องไตเทียม วิธีการนี้เป็นการทำแบบชั่วคราว


การฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวร (continuous ambulatory peritoneal dialysis: CAPD)

การฟอกไตทางช่องท้องแบบถาวร คือ การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาเพื่อกรองของเสียในร่างกายออกโดยการใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้องผ่านทางท่อ ซึ่งท่อนี้ต้องทำการฝังเข้าไปในช่องท้อง วิธีนี้สามารถทำที่บ้านหรือที่ทำงานได้และต้องทำทุกวัน มีการเปลี่ยนน้ำยา 4–5 ครั้ง/วัน ผู้ป่วยสามารถเลือกเวลาทำเองได้ โดยผู้ป่วยหรือผู้ช่วยเหลือต้องเรียนรู้วิธีการทำด้วย 
การปลูกถ่ายไต เป็นการผ่าตัดเอาไตของผู้อื่นมาใส่ไว้ในร่างกายผู้ป่วย เพื่อให้ไตอันใหม่ทำงานแทนไตเดิมที่ไม่สามารถทำงานได้แล้ว โดยไตใหม่นั้นจะได้มาจากผู้ที่เสียชีวิตที่บริจาคอวัยวะให้กับสภากาชาดไทย หรือได้มาจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต เช่น จากญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด เช่น บิดา มารดา บุตร พี่น้อง หรือจากคู่สมรสที่มีการจดทะเบียนสมรสไม่น้อยกว่า 3 ปี
แก้ไขล่าสุด: 30 มกราคม 2564

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ไตเทียม

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์โรคไต

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.65 of 10, จากจำนวนคนโหวต 98 คน

Related Health Blogs