bih.button.backtotop.text

มะเร็งตับอ่อน ลดความเสี่ยงได้ด้วยการตรวจพันธุกรรม

มะเร็งตับอ่อน ลดความเสี่ยงได้ด้วยการตรวจพันธุกรรม

มะเร็งตับอ่อน เป็นโรคร้ายที่มาอย่างเงียบเชียบ กว่าจะรู้ตัวก็มักจะสายเกินไป เนื่องจากตับอ่อนเป็นอวัยวะที่อยู่ลึกภายในช่องท้อง จึงไม่สามารถพบได้จากการตรวจร่างกายทั่วไป นอกจากนี้ผู้ป่วยจะยังไม่แสดงอาการใดๆจนกว่ามะเร็งมีขนาดใหญ่หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ทำให้กว่าครึ่งของผู้ป่วยมาพบแพทย์เมื่อมะเร็งอยู่ในระยะแพร่กระจายไปแล้ว อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อนจึงน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ
 

  

ปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งตับอ่อน

มะเร็งตับอ่อนอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้
  • สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • บริโภคเนื้อแดง อาหารแปรรูปและไขมันอิ่มตัวมากเกินไป
  • ภาวะน้ำหนักเกิน
  • โรคเบาหวาน
  • โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง
  • มีถุงน้ำที่ตับอ่อน (Pancreatic cyst) ใหญ่กว่า 3 ซม.
  • อายุที่มากขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 45 ปีและประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 65 ปี
  • พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
  • พันธุกรรม ยีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งตับอ่อน เช่น CDKN2A, MLH1, BRCA1, BRCA2, PALB2, ATMยีน STK11 ที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการ Peutz-Jeghers และความผิดปกติของยีน MLH1 และ MSH2  ที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการ Lynch เป็นต้น



สามารถป้องกันมะเร็งตับอ่อนได้หรือไม่

ถึงแม้ไม่มีวิธีการที่แน่นอนในการป้องกันมะเร็งตับอ่อนแต่การงดสูบบุหรี่ รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยลดความเสี่ยงได้

 

นอกจากมีพฤติกรรมที่ถูกสุขลักษณะแล้ว จะป้องกันมะเร็งตับอ่อนที่เกิดจากพันธุกรรมได้อย่างไร

มะเร็งตับอ่อนที่มาจากพันธุกรรมเกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ของสารพันธุกรรมที่มีมาแต่กำเนิด 25% ของผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนทั้งหมดถ่ายทอดมาจากพันธุกรรมในครอบครัว การตรวจพันธุกรรมทำให้แพทย์ทราบว่าใครบ้างที่มียีนที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งตับอ่อนและทำการป้องกันโรคเชิงรุกได้

 

ใครบ้างที่ควรรับการตรวจพันธุกรรมมะเร็งตับอ่อน

  • ผู้ที่มีญาติสายตรง (First degree relatives ซึ่งประกอบด้วย พ่อ แม่ พี่น้อง ลูก) เป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านมและมะเร็งตับอ่อน
  • ผู้ที่เป็นมะเร็งตับอ่อน
  • มีเบาหวานเกิดใหม่แต่น้ำหนักลดและมีอายุมาก ผู้ป่วยอาจเริ่มอาการเหล่านี้ก่อนเป็นมะเร็งตับอ่อนได้ถึง 3 ปี
  • บุคคลทั่วไปที่มีอายุมากกว่า 18 ปีและต้องการทราบว่ามีพันธุกรรมมะเร็งตับอ่อนหรือไม่
 

นอกจากช่วยป้องกันโรค การตรวจพันธุกรรมมะเร็งตับอ่อนมีข้อดีอย่างอื่นหรือไม่

สำหรับผู้ป่วย การตรวจพันธุกรรมยังช่วยให้แพทย์สามารถเลือกใช้ยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและทำลายเซลล์มะเร็งไม่ให้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย นอกจากทำให้การรักษามีประสิทธิภาพแล้วยังช่วยหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการรักษาได้อีกด้วย

 

หากพบว่ามีพันธุกรรมมะเร็งตับอ่อนควรทำอย่างไรต่อไป

แพทย์อาจนัดหมายเพื่อติดตามผลอย่างต่อเนื่องด้วยการตรวจตับอ่อนโดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวด์ (Endoscopic Ultrasound; EUS) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging; MRI) การติดตามผลควรทำอย่างต่อเนื่องทุกปีเนื่องจากมะเร็งชนิดนี้แพร่กระจายได้เร็วมาก ที่สำคัญคือทำให้แพทย์สามารถพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

 

ทำไมจึงควรตรวจพันธุกรรมกับบำรุงราษฎร์

เรามีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการอย่างครอบคลุม ตั้งแต่แพทย์ผู้ชำนาญการทางพันธุศาสตร์ที่มีประสบการณ์ในการแปลผลและแพทย์เฉพาะทางในหลากหลายสาขา เช่น แพทย์ผู้ชำนาญการด้านทางเดินและตับ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านถุงน้ำตับอ่อนโดยเฉพาะ แพทย์ชำนาญการด้านโรคมะเร็ง เป็นต้น นอกจากนี้ห้องปฏิบัติการตรวจการกลายพันธุ์ของยีนของเรายังได้รับการรับรองจาก CAP Certified Laboratory จาก The College of American Pathologists (CAP) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่รับรองความถูกต้องแม่นยำและคุณภาพที่สม่ำเสมอของผลการตรวจวินิจฉัยและผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการ

 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งตับอ่อน ลดความเสี่ยงได้ด้วยการตรวจพันธุกรรม
คะแนนโหวต 10 of 10, จากจำนวนคนโหวต 3 คน

Related Health Blogs