bih.button.backtotop.text

วันมะเร็งโลก: ก้าวสู่ฝัน... วันไร้มะเร็งร้าย

25 มกราคม 2564
โรคมะเร็งถือเป็นวายร้ายคุกคามสุขภาพอันดับต้น ๆ ในศตวรรษที่ 21 โดยใกล้จะแซงหน้าโรคระบบหลอดเลือดและหัวใจเต็มที ทุกวันนี้เราแทบทุกคนมีคนใกล้ตัวที่เคยเผชิญหรือเฉียดใกล้กับโรคมะเร็ง การรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจในหมู่ประชาชนทั่วไปจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อปีค.ศ. 2000 ในงานประชุม World Summit Against Cancer ที่ปารีส ตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันมะเร็งโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อรวมพลังกันช่วยชีวิตและปกป้องผู้คนหลายล้านคนจากโรคมะเร็ง ด้วยการรณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคมะเร็งในทุก ๆ ด้าน และร่วมกันผลักดันให้เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของรัฐบาลหรือหน่วยงานในภาครัฐของแต่ละชาติ


มะเร็งร้ายอยู่ใกล้แค่ไหน

            จากสถิติพบว่าในช่วงปี 1990 มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 8.1 ล้านคนในแต่ละปี จนเป็น 18.1 ล้านคนต่อปี ในปี 2018 และยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยมะเร็ง 3 อันดับแรก คือ มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านมในผู้หญิง และมะเร็งลำไส้ และคาดการณ์ว่าหากทั่วโลกยังไม่ลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ภายในปี 2030 จะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งจะมากกว่า 13.1 คนต่อปี
            อย่างไรก็ตาม กว่าร้อยละ 40 ของมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ป่วยอยู่ในปัจจุบันนั้น มีทางป้องกันและรักษาได้ ทำให้จำนวนผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ผลลัพธ์อันน่าทึ่งจากการทุ่มเทศึกษาวิจัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ เรื่องโรคมะเร็งในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น วิธีวินิจฉัยโรค ตัวยาที่ใช้ ขั้นตอนการรักษา และการฟื้นฟูร่างกายหลังจากการรักษา ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถอุ่นใจได้ว่า ต่อให้พบว่าเป็นโรคมะเร็งแล้ว ก็ยังรักษาให้หายได้ถ้าเราตั้งใจจริง


ก้าวที่หนึ่ง: รู้ทันป้องกันได้

          นอกจากรักษาสุขภาพ อยู่อย่างดี กินอาหารที่มีประโยชน์แล้ว องค์ความรู้ทางการแพทย์หลาย ๆ อย่างก็มีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก เป็นต้นว่าในปัจจุบัน เรามี “วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก” (HPV vaccine) ซึ่งสามารถฉีดเพียงชุดเดียว (จำนวนเข็มขึ้นกับช่วงอายุและชนิดของวัคซีน) ในช่วงอายุ 9 -44 ปี เพื่อให้มีผลตลอดชีวิต วัคซีนนี้ป้องกันไวรัสที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 4 สายพันธุ์ นอกจากนี้ก็ยังป้องกันโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนักในเพศชายได้อีกด้วย
องค์ความรู้ที่เพิ่มขึ้น ยังทำให้เรารู้ว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งปอดมีสาเหตุมาจากมลพิษและบุหรี่ เราก็ควรจะเลิกบุหรี่และหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีมลภาวะต่างๆ โดยอาจสวมหน้ากากเมื่อจำเป็น หรือในมะเร็งผิวหนังเราก็ควรจะทาครีมกันแดดป้องกันไว้ เป็นต้น

 

ก้าวที่สอง: รู้ก่อนรักษาก่อน

          ความซับซ้อนของโรคมะเร็ง ทำให้แม้เราจะใส่ใจดูแลสุขภาพเต็มที่ โอกาสที่จะเผชิญกับโรคดังกล่าวก็จะเพิ่มขึ้นตามวัยอยู่ดี และเนื่องจากโรคมะเร็งก็เหมือนโรคอื่น ๆ ที่ยิ่งรู้เร็วก็ยิ่งรักษาง่าย จึงมีการพัฒนาวิธีตรวจคัดกรองสำหรับมะเร็งที่พบได้บ่อยขึ้นมา การตรวจเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก ทั้งยังมีใช้การอย่างแพร่หลาย เพียงแต่มีการกำหนดให้เหมาะกับช่วงวัยยกตัวอย่างเช่น

-          การทำแมมโมแกรม (mammogram) เพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม แนะนำให้ตรวจในสตรีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป (หรือเร็วกว่านั้น หากมีประวัติในครอบครัว) และตรวจทุกปีเมื่ออายุ 45 ปีขึ้นไป

-          การเอกซ์เรย์ปอด เพื่อคัดกรองมะเร็งปอด แนะนำเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจร่างกายประจำปี เนื่องจากคัดกรองวัณโรคปอดได้ด้วย

-          การตรวจแปปสเมียร์และเชื้อไวรัส HPV เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แนะนำให้ตรวจทุกห้าปีในสตรีที่มีอายุ 30 – 65 ปี

-          การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แนะนำให้ตรวจทั้งในหญิงและชายตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป

-          การเจาะเลือดวัดค่า PSA เพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก แนะนำให้เริ่มพิจารณาตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ เราก็ยังควรสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตนเองให้ดี หากพบสิ่งผิดปกติ ไม่ว่าจะคลำพบก้อน พบไฝหรือขี้แมลงวันที่โตผิดปกติ หรือการขับถ่ายต่างไปจากเดิม ก็ต้องพบแพทย์โดยเร็ว


ก้าวที่สาม: รู้แล้วรักษาได้

          แม้จำนวนผู้ป่วยมะเร็งจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่จำนวนผู้รอดชีวิตก็เพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน ความก้าวหน้าของการวินิจฉัยที่รวดเร็วและแม่นยำกว่าสมัยก่อน รวมถึงวิธีรักษาที่หลากหลายและได้ผล ทำให้เราตัดตอนโรคได้ทันท่วงที ยกตัวอย่างเช่น มะเร็งเต้านม ซึ่งตัวเลขจากสหรัฐฯ ระบุว่าอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมนั้นลดลงไปถึง 1 ใน 3 ในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา (จาก 29.4 ต่อผู้หญิง 100,000 คนต่อปีในค.ศ. 1996 เป็น 20.0 ต่อผู้หญิง 100,000 คนต่อปีในค.ศ. 2016) หรือในกรณีของมะเร็งปอดในระยะแพร่กระจาย ซึ่งเคยมีอัตราการรอดชีวิตโดยปราศจากการลุกลามของโรคได้นานถึงห้าปีไม่ถึงร้อยละ 5 ทว่าปัจจุบัน การรักษาแบบ Immune Checkpoint Therapy  ก็สามารถเพิ่มจำนวนผู้ป่วยที่รอดชีวิตดังกล่าวได้สูงถึงร้อยละ 15-20 เลยทีเดียว

            ส่วนในเรื่องผลข้างเคียงของการรักษาด้วยเคมีบำบัด ที่ทำให้ผู้ป่วยหวาดกลัวเป็นอันมาก และอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างรุนแรงนั้น นอกจากสูตรยาเคมีบำบัดใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยลงมากแล้ว ก็ยังมีการรักษาแบบเฉพาะจุด (targeted therapy) ที่ออกฤทธิ์เจาะจงต่อเซลล์มะเร็งชนิดนั้น ๆ ประสิทธิภาพการรักษาจึงสูงมาก ในขณะที่ผลข้างเคียงต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด สามารถตอบโจทย์การรักษาได้กระทั่งในมะเร็งที่ซับซ้อน อย่างมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด หรือมะเร็งซาร์โคมา  

มะเร็งนั้นเป็นภัยร้ายที่คุกคามทุกคนได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในทวีปใด จะร่ำรวยหรือยากจน จะเป็นข้าราชการระดับสูงหรือผู้อพยพก็ตามที วันมะเร็งโลกจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์เพื่อย้ำเตือนว่า หนทางไปสู่ประกายแสง ณ เส้นขอบฟ้าแห่งการมีสุขภาพที่ดีได้ ก็คือ การร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจในการป้องกัน ตรวจสอบ และรักษาโรคมะเร็งอย่างรวดเร็ว ให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ดังคำขวัญประจำวันมะเร็งโลกที่ว่า “I Am and I Will” ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเดินร่วมกันไปสู่วันที่โลกไร้มะเร็งได้

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs