ปัญหาสุขภาพของผู้หญิงนั้นมีลักษณะเฉพาะและต้องการการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพราะร่างกายของผู้หญิงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากวัยเยาว์ เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ วัยผู้ใหญ่ และวัยหมดประจำเดือน ซึ่งบางครั้งความเปลี่ยนแปลงในร่างกายที่ดูธรรมดาอาจเป็นสัญญานของโรคร้ายบางอย่างได้หากไม่รู้เท่าทัน
สำหรับโรคมะเร็งที่เกิดกับผู้หญิงนั้น รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติระบุว่า ชนิดของมะเร็งที่พบผู้ป่วยรายใหม่มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งปอด และมะเร็งมดลูก ซึ่งผู้หญิงทุกคนล้วนมีโอกาสเป็นได้ทั้งสิ้น ดังนั้น การรู้จักกับโรคมะเร็งเหล่านี้และรู้ว่าจะป้องกันตัวเองจากโรคได้อย่างไรจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้อย่างมาก
เป็นชนิดของโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย โดยความเสี่ยงต่อโรคจะเพิ่มขึ้นตามอายุโดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ พันธุกรรม การกลายพันธุ์ของยีน BRCA การสัมผัสกับเอสโตรเจนเป็นเวลานาน เคยมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และการใช้ชีวิตในแบบที่ทำลายสุขภาพไม่ว่าจะเป็นการปล่อยให้น้ำหนักเกิน ขาดการออกกำลังกาย หรือการ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผู้หญิงควรสงสัยว่าตัวเองอาจมีอาการของโรคมะเร็งเต้านมและรีบไปพบแพทย์ทันทีหากคลำพบก้อนในเต้านมหรือใต้แขน บริเวณหัวนมบุ๋ม มีน้ำเหลือง หรือมีแผล เต้านมมีผื่น แดง ร้อน ผื่นคล้ายผิวส้ม และมีอาการปวดบริเวณเต้านม
การป้องกันตัวเองจากมะเร็งเต้านม
แพทย์แนะนำให้ผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไปเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมพร้อมอัลตราซาวนด์ทุก 1-2 ปี
เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ของผู้หญิง โดยเกิดได้กับผู้หญิงทุกคนที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ซึ่งเป็นไวรัสที่ติดต่อผ่านการสัมผัสทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์และไม่ใช่เพศสัมพันธ์ ส่วนปัจจัยอื่นที่ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น ได้แก่ ช่วงอายุระหว่าง 40-50 ปี มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ มีบุตรหลายคน สูบบุหรี่ รวมถึงการมีปัญหาระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี
มะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกหรือระยะก่อนเป็นมะเร็งนั้นผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ เลย ดังนั้น หากพบว่ามีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ประจำเดือนมานานผิดปกติ มีเลือดออกทั้งที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนแล้ว บางรายมีอาการตกขาวมากและมีกลิ่นผิดปกติ เมื่อตรวจพบมะเร็งปากมดลูกจึงหมายความว่าโรคได้ดำเนินไปมากแล้ว
การป้องกันตัวเองจากมะเร็งปากมดลูก
ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกภายใน 3 ปีหลังการมีเพศสัมพันธ์ และหากยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์อาจเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไปโดยการตรวจแปปสเมียร์ (Pap test) ร่วมกับการตรวจหาเชื้อ HPV ส่วนผู้หญิงที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ที่มีอายุตั้งแต่ 9 - 26 ปีควรฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับต่อต้านเชื้อ HPV ก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
เป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 3 ของผู้หญิง โดยปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค แต่พบว่าปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่ อายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือเคยถูกตรวจพบว่ามีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่มาก่อน มีประวัติเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน และที่สำคัญคือเป็นผู้ที่ชื่นชอบอาหารไขมันสูงและไม่ค่อยรับประทานผัก ผลไม้
อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในระยะต้นๆ มักไม่มีความผิดปกติใดๆ จนกระทั่งโรคพัฒนาขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย ท้องผูก รู้สึกถ่ายไม่หมด ปวดมวนท้องไม่ทราบสาเหตุ อุจจาระมีเลือดปน ลักษณะอุจจาระเล็กเรียวยาวกว่าปกติ รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีภาวะโลหิตจาง
การป้องกันตัวเองจากมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
โดยทั่วไปแพทย์แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักด้วยการตรวจหาเลือดในอุจจาระ การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) หรือวิธีอื่นๆ ตั้งแต่อายุ 50 ปี แต่ปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้เริ่มมีอายุน้อยลง ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรตรวจคัดกรองเร็วขึ้นคือเริ่มที่อายุ 40 ปี
มะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งที่ผู้หญิงเป็นมากในอันดับที่ 4 โดยไม่เพียงเป็นโรคที่พบได้บ่อย แต่ยังเป็นโรคที่มีความรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงมากคือกว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยตรวจพบโรคเมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าสู่ระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะที่มีอัตราการอยู่รอดห้าปีไม่ถึงร้อยละ 5
เราทราบกันดีว่าสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปอดเกิดจากการสูบบุหรี่ แต่ผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลยก็มีความเสี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สูบบุหรี่แต่สัมผัสควันบุหรี่ (second-hand smoking) และผู้ที่เคยรับสารพิษจากการสูดดมเมื่ออายุน้อยๆ ซึ่งอาการของโรคจะปรากฎเมื่อมะเร็งเข้าสู่ระยะที่ 3-4 โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจผิดปกติ ติดเชื้อในปอดบ่อยๆ เจ็บหน้าอก เสียงแหบ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หากมะเร็งเกิดที่หลอดลมก็จะมีอาการไอเรื้อรัง บางรายอาจไอมีเลือดปน
การป้องกันตัวเองจากมะเร็งปอด
หากคุณมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอด เช่น เป็นผู้ที่สูบบุหรี่หรือมีประวัติสูบบุหรี่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เลิกสูบมาไม่เกิน 15 ปี มีบุคคลในครอบครัวสูบบุหรี่ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้รับมลภาวะและสารพิษต่างๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (low-dose computerized tomography หรือ low-dose CT) ซึ่งใช้ปริมาณรังสีน้อยแต่ให้ภาพที่มีความละเอียดสูงเช่นเดียวกับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจจึงมีความปลอดภัยและแม่นยำ
เป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 5 ของผู้หญิงไทย โดยสาเหตุของการเกิดโรคยังไม่แน่ชัด แต่เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิง ดังนั้นผู้หญิงที่มีบุตรน้อยหรือไม่มีบุตร มีประจำเดือนต่อเนื่องแม้จะถึงวัยที่ควรหมดประจำเดือนแล้ว มีภาวะฮอร์โมนผันผวน เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน มีน้ำหนักตัวมากเกินไป อาจมีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้มากขึ้น
อาการของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก คือ ประจำเดือนผิดปกติ เช่น มาบ้างไม่มาบ้าง มานานกว่าปกติ มีเลือดออกจากช่องคลอดทั้งที่หมดประจำเดือนแล้ว
การป้องกันตัวเองจากมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ดังนั้น ผู้หญิงที่มีภาวะประจำเดือนผิดปกติจึงจำเป็นต้องไปพบสูตินรีแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น โดยแพทย์อาจทำการอัลตราซาวนด์หรือใช้วิธีเก็บเซลล์จากโพรงมดลูกไปตรวจ หรือใช้วิธีส่องกล้องเข้าทางปากมดลูกเพื่อตรวจโพรงมดลูกว่ามีเนื้องอกหรือมะเร็งหรือไม่
เรียบเรียงโดย
นพ. ฉันทวัฒน์ เชนะกุล ศูนย์สูติ-นารีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
นพ. หฤษฎ์ สุวรรณรัศมี ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ศูนย์สูติ-นรีเวช :
อาคารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ชั้น 2 ด้านเหนือ
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 33 สุขุมวิท ซอย 3 เขตวัฒนา กรุงเทพ 10110
โทร : 02-011-2361
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 10 พฤษภาคม 2565