ดูแลตับอ่อนอย่างไรให้แข็งแรง
ตับอ่อน อวัยวะเล็กๆที่ซ่อนตัวอยู่หลังกระเพาะอาหาร แต่หน้าที่และความสำคัญไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าอวัยวะที่สำคัญอื่นๆ บทบาทหลักของตับอ่อนคือการสร้างน้ำย่อยและสร้างฮอร์โมนอินซูลินที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ตับอ่อนที่สมบูรณ์แข็งแรงสามารถผลิตน้ำย่อยเพื่อย่อยอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน รวมถึงวิตามินที่ต้องดูดซึมควบคู่กับไขมัน เช่น วิตามินเอ ดี อี และเค ทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับที่สมดุล
ตับอ่อนที่มีปัญหา ส่งผลร้ายอย่างไรต่อร่างกาย
หากตับอ่อนเป็นโรคหรือได้รับบาดเจ็บ จะทำให้ร่างกายผลิตน้ำย่อยเพื่อย่อยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมันไม่เพียงพอทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร รวมถึงไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอหรือไม่สามารถผลิตได้ ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูง เป็นโรคเบาหวานในที่สุด นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการไม่สบายต่างๆ เช่น ปวดท้องเรื้อรัง ท้องอืด ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และโรคที่เกิดจากการขาดสารอาหารเนื่องจากการผลิตน้ำย่อยของตับอ่อนที่ลดลง เช่นโรคกระดูกพรุนอที่เกิดจากร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินดี
ตับอ่อนที่มีปัญหา จะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ไหม
ตับอ่อนมีความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองได้อย่างจำกัด จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยเบาหวานมักต้องฉีดอินซูลินไปเรื่อยๆหรือผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดตับอ่อนไปแล้ว จะต้องรับประทานยาน้ำย่อยเพื่อช่วยย่อยอาหาร และ/หรือการใช้อินซูลินร่วมในระยะยาว
จะดูแลสุขภาพตับอ่อนให้แข็งแรงได้อย่างไร
เมื่อความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองของตับอ่อนมีจำกัด ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันและดูแลตับอ่อนให้แข็งแรงไปนานๆ ด้วยวิธีการดังนี้
- รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม น้ำหนักที่เหมาะสมสำหรับคนไทยคือ ดัชนีมวลกาย (BMI) ควรอยู่ระหว่าง 18.5 ถึง 23
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มแต่น้อย ผู้ชายไม่ควรเกิน 2 หน่วย (drinks) ต่อวันและผู้หญิงไม่ควรเกิน 1 หน่วย (drink) ต่อวัน เช่น เบียร์ 1 กระป๋องเล็กเท่ากับ 1 หน่วย วิสกี้ 45 ซีซีเท่ากับ 1 หน่วย และไวน์ 150 ซีซีเท่ากับ 1 หน่วย
- ไม่สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนและโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง
- รับประทานผัก ผลไม้และธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี เพื่อเพิ่มกากใยและจำกัดปริมาณคอเลสเตอรอลที่ร่างกายได้รับ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วและมีไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงยังช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งตับอ่อน
- หลีกเลี่ยงหรือลดอาหารประเภททอด อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงและอาหารที่มีน้ำตาลมาก เช่น เนื้อแดง เนย มาการีน เครื่องในสัตว์ มันฝรั่งทอดและน้ำหวาน เพราะทำให้ตับอ่อนต้องทำงานหนักในการย่อยไขมัน นอกจากนี้อาหารที่มีไขมันสูงและน้ำตาลมากยังเพิ่มระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี
- ตรวจสุขภาพประจำปี ช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ เช่น กลุ่มโรค metabolic syndrome หรือกลุ่มโรคอ้วน ที่เพิ่มโอกาสความรุนแรงหากเกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน และยังมีโอกาสเป็นมะเร็งตับอ่อนที่เพิ่มขึ้น
- ตรวจยีน หากมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม รังไข่ กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ทางเดินปัสสาวะ มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มญาติสายตรง เช่น บิดามารดา พี่น้องจะทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับอ่อนมากกว่าคนทั่วไป หากตรวจพบว่ามียีนซึ่งสามารถเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งตับอ่อนจะได้วางแผนป้องกันหรือรักษาได้อย่างทันท่วงที
ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้บริการดูแลรักษาทุกปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและตับโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางและสหสาขาวิชาชีพอื่นๆที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารและตับโดยเฉพาะ ด้วยมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยสูงเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีที่สุด
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 21 มิถุนายน 2565