bih.button.backtotop.text

ตรวจยีนโรคมะเร็ง รู้ก่อน ป้องกันได้

ในประเทศไทยโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ติดต่อกันหลายสิบปี  หรือมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งโดยเฉลี่ย 8 รายต่อชั่วโมง โรคมะเร็งเกิดจากความผิดปกติของยีนที่มีการกลายพันธุ์ (gene mutation) ในร่างกาย ส่งผลให้เกิดการสร้างโปรตีนที่ไม่สมบูรณ์ หรือผิดปกติ นําไปสู่การแบ่งตัวของเซลล์จนร่างกายควบคุมไม่ได้ และทำให้เกิดเป็นเซลล์มะเร็ง และอาจกลายเป็นก้อนมะเร็งที่ลุกลามไปรบกวนเซลล์ปกติในอวัยวะที่เกิดเซลล์มะเร็ง อวัยวะข้างเคียง และอาจลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้อีกด้วย 
 

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง

มะเร็งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น บุหรี่ แสงแดด รังสี สารเคมี ฮอร์โมน ไวรัส และสุรา รวมถึงปัจจัยที่อาจแก้ไขไม่ได้ เช่น อายุ เพศ และที่สำคัญ ประวัติครอบครัวและพันธุกรรม โดยประมาณ 1 ใน 8 ของผู้ที่เป็นมะเร็งจะพบยีนกลายพันธุ์ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมในครอบครัว ดังนั้นคนที่มียีนกลายพันธุ์กลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปในการเกิดโรคมะเร็ง
 

ตรวจยีนโรคมะเร็งชนิดใดได้บ้าง

โรคมะเร็งมีอยู่หลากหลายชนิด ก่อนตรวจควรพบแพทย์ผู้ชำนาญการด้านพันธุกรรม เพื่อช่วยวิเคราะห์และให้คำแนะนำว่าผู้ป่วยและครอบครัวควรตรวจยีนกลุ่มไหนจึงจะได้รับประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ยังมีชุดตรวจซึ่งประกอบด้วยกลุ่มยีนที่มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ป่วยแต่ละรายอาจใช้ชุดตรวจของยีนที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความเสี่ยงและประวัติครอบครัว โดยทั่วไปมะเร็งที่ตรวจมักเป็นมะเร็งที่มีโอกาสถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งเต้านม มะเร็งตับอ่อน มะเร็งรังไข่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งผิวหนัง มะเร็งในไต และมะเร็งไทรอยด์
 

ใครบ้างที่ควรตรวจยีนโรคมะเร็ง
  • มีประวัติเป็นโรคมะเร็งหรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งก่อนอายุ 50 ปี
  • เป็นโรคมะเร็งหลายชนิดในบุคคลเดียวกัน
  • มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งตามที่กล่าวในข้างต้น
  • เป็นเพศชายแต่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 
  • มีคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งและ ได้รับการตรวจยืนยันแล้วว่าเป็นมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • คนที่ห่วงใยสุขภาพและอยากทราบว่ามีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งทางพันธุกรรมหรือไม่ 
  • คนที่ต้องการวางแผนครอบครัว โดยเมื่อพบยีนกลายพันธุ์แล้ว ในปัจจุบันสามารถพิจารณาใช้เทคโนโลยีการทำเด็กหลอดแก้วร่วมกับการใช้ข้อมูลพันธุกรรมที่เราตรวจได้เพื่อการวินิจฉัย และเลือกตัวอ่อนที่ไม่มียีนกลายพันธุ์ที่ผิดปกติก่อนเข้าสู่กระบวนการฝังตัวอ่อน 

 

หากตรวจพบว่ามียีนโรคมะเร็งแต่ยังไม่แสดงอาการ ต้องทำอย่างไรต่อไป

หากผู้ป่วยตัดสินใจตรวจยีนโรคมะเร็งโดยที่ยังไม่มีอาการใดๆ และพบว่ามียีนที่ผิดปกติ แพทย์จะมีคำแนะนำในการวางแผน คัดกรอง ป้องกันโรคมะเร็งแต่ละชนิดอย่างชัดเจนโดยผู้ป่วยควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดกรองที่เหมาะสม เช่น หากตรวจพบว่ามียีนโรคมะเร็งลำไส้ อาจจะต้องส่องกล้องเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ตั้งแต่อายุยังน้อยกว่าคนทั่วไป หรือหากพบยีนมะเร็งรังไข่ อาจต้องทำอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอดและตรวจสารบ่งชี้มะเร็งเมื่อถึงอายุที่เหมาะสม
 

รู้ปัจจัยเสี่ยงก่อน ป้องกันได้

การรู้ปัจจัยเสี่ยงด้านพันธุกรรมทำให้เราสามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ด้วยการวางแผนคัดกรองโรคตั้งแต่เนิ่นๆ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทางสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิต ดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนอย่างเพียงพอ จัดการกับความเครียดเพราะความเครียดทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่เป็นผลเสียต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 
ข้อดีของการมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านพันธุกรรมก่อนตรวจยีนและหลังตรวจยีนคือ ทำให้ผู้ป่วยได้รับคำตอบที่เป็นปัญหาข้อข้องใจ เข้าใจกระบวนการตรวจ ข้อดีและข้อเสียของการตรวจอย่างละเอียด ช่วยในการตัดสินใจก่อนการตรวจ รวมถึงแพทย์สามารถให้คำแนะนำหลังการตรวจได้ว่าขั้นตอนต่อไปควรเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นข้อที่แตกต่างจากการที่ไปตรวจพันธุกรรมโดยไม่ผ่านแพทย์ผู้ชำนาญการ
 

ทีมสหสาขาวิชาชีพที่พร้อมดูแลรักษาโรคมะเร็ง

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการในการรักษาโรคมะเร็งอย่างพรั่งพร้อมใน ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน (Horizon Cancer Center) ไม่ว่าจะเป็นทีมอายุรแพทย์ด้านโรคมะเร็ง ทีมศัลยแพทย์ด้านโรคมะเร็ง ทีมแพทย์ด้านเวชพันธุศาสตร์ รังสีแพทย์ แพทย์รังสีรักษา พยาธิแพทย์ แพทย์เฉพาะทางอื่นๆ นักพันธุศาสตร์ เภสัชกร พยาบาลและนักโภชนาการ นอกจากนี้ เรายังมีการประชุมสหสาขาวิชาชีพ (Tumor Board) ที่ร่วมกันกำหนดแนวทางการรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างสม่ำเสมอระหว่างสหสาขาวิชาชีพ เพื่อหาวิธีการดูแลผู้ป่วยที่ดีและเหมาะสมร่วมกัน นอกเหนือจากนี้เรายังมีบริการคลินิกรักษามะเร็งเชิงบูรณาการเอสเพอรานซ์ (Esperance Integrative Cancer Clinic) สำหรับผู้ที่ต้องการการรักษาและป้องกันมะเร็งด้วยวิธีการแบบผสมผสาน ด้วยนวัตกรรมแบบบูรณาการ


เรียบเรียงโดย ผศ.นพ. พลกฤต ทีฆคีรีกุล
ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสต์โรคหัวใจ และเวชพันธุศาสตร์  



 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 21 มิถุนายน 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs