bih.button.backtotop.text

โรคหัวใจพิการหรือผิดปกติแต่กำเนิด

โรคหัวใจพิการหรือผิดปกติแต่กำเนิด หมายถึงความผิดปกติของโครงสร้างของหัวใจหรือหลอดเลือดใกล้หัวใจ โดยปกติหัวใจของทารกในครรภ์จะเริ่มสร้างเมื่อทารกมีอายุครรภ์ได้ 5 สัปดาห์ และเสร็จสมบูรณ์เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 12 สัปดาห์

องค์ประกอบที่ทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคหัวใจพิการหรือผิดปกติแต่กำเนิด

1. โรคทางพันธุกรรมบางชนิด

  • ดาวน์ซินโดรม เกิดจากการที่ทารกมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา ส่งผลให้เติบโตช้า ระดับสติปัญญาด้อยกว่าปกติ ประมาณร้อยละ 40 ของเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรมจะมีความผิดปกติของหัวใจ
  • เทอร์เนอร์ซินโดรม (Turner syndrome) เกิดจากการที่โครโมโซมเพศหายไป 1 ตัวในเด็กหญิง ทำให้ตัวเตี้ยและไม่มีประจำเดือน ประมาณร้อยละ 30 ของเด็กที่เป็นเทอร์เนอร์ซินโดรมจะมีความผิดปกติที่ลิ้นหัวใจและเส้นเลือดตีบ

2. ปัจจัยเสี่ยงของแม่ขณะตั้งครรภ์

  • โรคประจำตัวของแม่ เช่น โรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดีในขณะตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงสูงที่ทำให้หัวใจทารกในครรภ์ผิดปกติ ที่พบบ่อยคือเส้นเลือดหัวใจของทารกสลับข้างกัน (TGA) และกล้ามเนื้อหัวใจหนา
  • การเจ็บป่วยขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อหัวใจทารกในครรภ์ได้ เช่น แม่ป่วยเป็นโรคหัดเยอรมัน ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้หัวใจทารกผิดปกติเท่านั้นแต่ยังทำให้อวัยวะอื่น เช่น สมองหรือตาผิดปกติด้วย โรคไข้หวัดใหญ่จะทำให้มีความเสี่ยงของหัวใจผิดปกติเพิ่มขึ้น 2 เท่า ดังนั้นขณะที่ตั้งครรภ์แม่จะต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีและก่อนตั้งครรภ์ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน (ในกรณีที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน) และวัคซีนไข้หวัดใหญ่

นอกจากนี้ การที่แม่มีไข้สูงก็อาจส่งผลทำให้หัวใจทารกผิดปกติได้ จึงควรรับประทานยาลดไข้เมื่อมีไข้ ยาลดไข้ที่ปลอดภัยในช่วงตั้งครรภ์คือพาราเซตามอล ส่วนยาลดไข้ชนิดอื่น เช่น แอสไพรินหรือไอบูโปรเฟน ไม่ควรใช้เนื่องจากอาจทำให้หัวใจทารกผิดปกติได้ ข้อพึงระวังคือ ขณะตั้งครรภ์ควรใช้ยาให้น้อยที่สุด และปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกชนิด

  • การได้รับยาหรือสารเคมีต่างๆ ขณะตั้งครรภ์
    1. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดอาจส่งผลต่อหัวใจและอวัยวะอื่นๆ ของลูกในครรภ์รวมถึงสมองด้วย โดยความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับปริมาณที่แม่รับเข้าไป วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคืองดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดทุกชนิดตลอดการตั้งครรภ์
    2. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาอื่นๆ เช่น ยากันชัก ยาไอบูโปรเฟน ยารักษาสิวที่เป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอจำพวกเรตินอยด์ (ทั้งยาทาและยารับประทาน)
    3. ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีบางชนิดโดยเฉพาะตัวทำละลาย (organic solvent) ที่ใช้ผสมในสี น้ำมันวานิช และยาทาเล็บ

อาการของโรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของความผิดปกติ ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติชนิดที่มีความรุนแรงน้อยมักมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลย ส่วนผู้ป่วยที่เป็นมากอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • อาการเขียว จะมีสีม่วงคล้ำที่เล็บ ริมฝีปากและเยื่อบุภายในช่องปาก
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • หายใจเร็วและหายใจลำบาก
  • เหนื่อยง่าย ในทารกจะสังเกตได้เวลาดื่มนม ทำให้ดื่มนมได้น้อย
  • เลี้ยงไม่โต
  • เหงื่อออกมาก
  • อ่อนเพลีย

ความผิดปกติของหัวใจบางชนิดสามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์โดยการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ แต่บางชนิดจะตรวจพบภายหลังจากทารกคลอดออกมา และบ่อยครั้งจะตรวจพบเมื่อเด็กโตขึ้นหรือขณะเป็นผู้ใหญ่ เมื่อแพทย์สงสัยว่าเด็กอาจเป็นโรคหัวใจจากประวัติและการตรวจร่างกายแล้วอาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น
 

  • การทำอัลตราซาวนด์ของหัวใจ (echocardiogram) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อตรวจดูโครงสร้างภายในของหัวใจ การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจ รวมถึงการไหลเวียนของโลหิต
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiogram) เป็นการวัดระบบไฟฟ้าที่ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ
  • การตรวจทางภาพถ่ายรังสีของปอดและหัวใจ (chest X-ray) เพื่อดูขนาดและตำแหน่งของหัวใจ ดูลักษณะของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงปอดทั้งสองข้าง
  • การสวนหัวใจ (cardiac catheterization) เป็นการสอดท่อพลาสติกขนาดเล็กเข้าไปในเส้นเลือดใหญ่ มักเป็นเส้นเลือดที่บริเวณขาหนีบหรือที่ข้างคอ แล้วร้อยท่อนี้เข้าไปในห้องต่างๆ ของหัวใจ เพื่อวัดความดันและความอิ่มตัวของออกซิเจน เพื่อศึกษาการทำงานของหัวใจ นอกจากนี้แพทย์อาจฉีดสารทึบแสงเข้าไปในช่องหัวใจเพื่อบันทึกการทำงานของหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์
  • การทำ MRI เพื่อตรวจดูโครงสร้างและสร้างภาพสามมิติของหัวใจด้วยสนามแม่เหล็ก
  • การทำ CT scan เป็นการตรวจโครงสร้างด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 
ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยที่ไม่แสดงอาการและสามารถเจริญเติบโตพร้อมทั้งดำเนินชีวิตได้ตามปกติก็ไม่ต้องรักษา ส่วนในกลุ่มที่มีอาการ เช่น หัวใจวาย อาจต้องให้ยาเพื่อควบคุมอาการ ส่วนจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความผิดปกติของหัวใจว่าเป็นแบบใด บางชนิดหายเองได้หรือดีขึ้นจนถึงจุดที่ไม่อันตรายและไม่ต้องรับการผ่าตัด แต่หากหายเองไม่ได้มักลงเอยด้วยการผ่าตัดหรือการสวนหัวใจ ในปัจจุบันการรักษารูรั่วที่ผนังหัวใจบางชนิดหรือการปิดเส้นเลือดที่ไม่มีความจำเป็นสามารถทำได้ด้วยการสวนหัวใจ แพทย์จะใช้สายพลาสติกเล็กๆ สอดเข้าไปทางเส้นเลือดจนถึงบริเวณของหัวใจที่มีความผิดปกติ แล้วสอดอุปกรณ์ที่จะเข้าไปปิดรูรั่วผ่านทางสายพลาสติกนี้ วิธีการเช่นนี้ได้ผลดีและทำให้หลีกเลี่ยงการผ่าตัดใหญ่ได้
  • เนื่องจากเด็กที่เป็นโรคหัวใจมักมีภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว จึงควรเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคปอดอักเสบ ความดันปอดสูงผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
  • ควรหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากและฟันเด็กให้ดี ป้องกันฟันผุ เพื่อระวังการติดเชี้อเข้ากระแสเลือดและเกิดการอักเสบที่หัวใจในภายหลัง
  • ในรายที่มีอาการมากมักมีปัญหาพัฒนาการทางสมอง เรียนได้ช้า ตามเพื่อนไม่ทัน กระทบกับการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กที่ทำงานที่ละเอียดอ่อน เช่น การใช้นิ้วมือ การหยิบจับ การเขียนหนังสือ เป็นต้น หรือมีปัญหาพฤติกรรม คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจและปรึกษากุมารแพทย์ด้านพัฒนาการโดยตรง

 

แก้ไขล่าสุด: 02 ตุลาคม 2567

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์กุมารเวช

ดูเพิ่มเติม

แผนกผู้ป่วยหนัก (ICU)

ดูเพิ่มเติม

สถาบันโรคหัวใจ (Heart Institute)

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.84 of 10, จากจำนวนคนโหวต 123 คน

Related Health Blogs