โรคข้อเข่าเสื่อม คืออะไร?
โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee osteoarthritis) คือ ภาวะที่ข้อเข่าเกิดการเสื่อมสภาพลง ซึ่งเป็นผลมาจากกระดูกอ่อนผิวข้อ (Articular cartilage) เกิดการสึกกร่อนอย่างต่อเนื่องตามเวลาที่ผ่านไป หรือขอบกระดูกในข้อ (Subchondral bone) เกิดการหนาตัวขึ้น รวมถึงน้ำในไขข้อ (Synovial fluid) ที่เป็นตัวช่วยในการหล่อลื่นข้อนั้นลดลง ส่งผลให้เกิดอาการปวดตามมา
อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม มีอะไรบ้าง?
สัญญาณและอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมมีได้หลายแบบ ดังนี้
- อาการปวด (Pain) อาการปวดแบบตื้อๆ บริเวณข้อ มักเป็นเรื้อรังและมากขึ้นเมื่อมีการใช้งานหรือลงน้ำหนักบนข้อนั้นๆ อาการมักทุเลาลงเมื่อมีการนั่งพักหรือหยุดใช้งาน หากการดำเนินโรครุนแรงขึ้นอาจทำให้ปวดตลอดเวลาแม้กลางคืนหรือขณะพัก
- ข้อฝืด (Stiffness) พบได้บ่อย มักเป็นตอนเช้าหลังตื่นนอน แต่มักมีอาการไม่เกิน 30 นาที อาการฝืดอาจเกิดขึ้นชั่วคราวในช่วงแรกของการเคลื่อนไหวหลังจากพักเป็นเวลานาน
- ข้อบวม ผิดรูป (Swelling/deformity) บางรายอาจพบข้อบวมและขาผิดรูปร่วมด้วย
- มีเสียงดังกรอบแกรบ (Crepitus) ในข้อเข่า ขณะที่มีการขยับ เคลื่อนไหวของเข่า
- สูญเสีย การเคลื่อนไหวและการทำงาน ผู้ป่วยมีอาการเดินไม่สะดวก
โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากสาเหตุอะไร?
โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่ข้อเข่าตามอายุ แต่อาจมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ ดังนี้
- อายุ – อายุที่มากขึ้น ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น
- เพศ – โรคข้อเข่าเสื่อมพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และส่วนมากเป็นผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว
- กรรมพันธุ์
- อาการบาดเจ็บของข้อเข่า – อาการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุทั้งครั้งคราวและเรื้อรังที่ข้อ เส้นเอ็น หรือโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับข้อเข่า เช่น รูมาตอยด์ เก๊าท์ อาจส่งผลทำให้เข่าเสื่อมสภาพได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีอาการบาดเจ็บ
- น้ำหนัก – น้ำหนักตัวมีความสัมพันธ์กับเข่าในด้านของการรับน้ำหนักตัว หากน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 0.5 กิโลกรัม จะเพิ่มแรงที่กระทำต่อข้อเข่าประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม ทำให้ข้อเข่ามีโอกาสเสื่อมเร็วขึ้น
- ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ – เนื่องจากบริเวณเข่ามีกล้ามเนื้อคอยพยุงและสร้างความมั่นคงให้อยู่ ถ้าหากกล้ามเนื้อนี้แข็งแรงไม่มากพออาจส่งผลให้ข้อเข่าได้รับความเสียหายและเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ในอนาคต
- การใช้งาน – การใช้งานข้อเข่าจากกิจกรรมต่างๆ ลักษณะท่าทางของการเคลื่อนไหว เช่น การนั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งยองๆ เดิน-วิ่งขึ้นลงบันไดบ่อยๆ กระโดด หรือกิจกรรมที่มีแรงกดกับข้อเข่ามากๆ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมในอนาคตได้
เราสามารถรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมได้อย่างไร?
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม สามารถแบ่งตามรูปแบบการรักษาได้เป็น 2 แบบ คือ
- การรักษาแบบไม่ใช้ยา
การออกกำลังกาย |
- ออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง เช่น อายุ ความรุนแรงของโรค ความสามารถในการขยับ และโรคร่วมอื่นๆ
- การออกกำลัยกายเบื้องต้นที่แนะนำ ได้แก่ การเดิน การปั่นจักรยาน หรือการเดินในน้ำ ควบคู่ไปกับการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา
- ในผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อมรุนแรงปานกลาง-มาก แนะนำให้ออกกำลังกายในน้ำเพียงอย่างเดียว เนื่องจากน้ำจะช่วยพยุงน้ำหนักตัวและลดแรงที่จะกระทำต่อเข่าลง ทำให้ปลอดภัยมากกว่าเมื่อเทียบกับการออกกำลังกายแบบอื่น
|
การลดน้ำหนัก |
การลดน้ำหนักเป็นการลดแรงกดที่มีต่อข้อเข่าลง ซึ่งเป็นการทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย ดังนั้น ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
|
การใช้ผ้ารัดเข่า |
ใช้เมื่อแพทย์มีความเห็นสมควร เพราะการใช้ผ้ารัดเข่าอาจทำให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการที่ไม่ได้ถูกใช้งานได้ |
การใช้ไม้เท้า |
หากมีการเคลื่อนไหวที่จำกัด หรือมีประวัติเคยล้มมาก่อน การใช้ไม้เท้าอาจช่วยลดแรงกดที่มีต่อเข่าและช่วยให้เคลื่อนไหวได้มากขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยในเรื่องของอาการปวดมากนัก |
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม |
ในรายที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมอาจถูกนำมาพิจารณาเป็นทางเลือกในการรักษา เพื่อลดอาการปวด เพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหว และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น |
2. การรักษาแบบใช้ยา
กลุ่มยาบรรเทาอาการปวด |
ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการปวดเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถลดการอักเสบได้ ได้แก่ Paracetamol ซึ่งนิยมใช้เป็นยาทางเลือกแรก หรือ Tramadol ที่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดได้ดี แต่อาจมีผลข้างเคียงได้มาก เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มึนงงศีรษะ |
กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs) |
ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบได้ เช่น Ibuprofen, Naproxen, Diclofenac, Meloxicam, Celecoxib, Etoricoxib ในผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อมรุนแรงน้อย จะแนะนำให้ใช้ยา NSAIDs ชนิดทาภายนอก มากกว่าชนิดรับประทาน เพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากยาชนิดรับประทาน เช่น ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น มีผลเสียต่อไตสูงในผู้ป่วยที่มีโรคไตร่วม รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ชนิดยาชนิดรุนแรงได้
|
กลุ่มยาทาเฉพาะที่ |
นอกจากยาชนิดรับประทานแล้ว ยาทาเฉพาะที่ก็สามารถนำมาใช้รักษาอาการปวดร่วมกันได้ เช่น
- Capsicin ซึ่งเป็นสารสกัดจากพริก มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการปวด แต่อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณที่ทาได้
- NSAIDs ชนิดทาภายนอก เช่น Diclofenac, Ketoprofen, Nimesulide
กลุ่มยาทาบรรเทาอาการปวด เช่น Methyl salicylate |
กลุ่มยาฉีดเข้าข้อ |
ส่วนมากใช้ในผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อมรุนแรงที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล โดยแพทย์จะพิจารณาว่าสมควรใช้ทางเลือกนี้มากน้อยเพียงใด ตัวอย่างยาที่นำมาฉีดเข้าข้อ ได้แก่ ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Triamcinolone, Methylprednisolone, Betamethasone) และ Hyaluronic acid |
กลุ่มยาชะลอการเสื่อมของข้อ (Symptomatic slow-acting drug of osteoarthritis; SYSADOA) |
ยากลุ่มนี้ ได้แก่ Glucosamine, Chondroitin, Diacerein ถูกนำมาใช้เพื่อชะลอการเสื่อมของข้อ อย่างไรก็ดี ฤทธิ์ในการลดการอักเสบและบรรเทาปวดของยากลุ่มนี้ยังไม่ชัดเจน โดย Glucosamine และ Chondroitin นั้น สามารถพบได้ทั้งที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาและอาหารเสริม |
การป้องกันการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม ทำอย่างไรได้บ้าง?
การปรับพฤติกรรมบางอย่าง หรือหลีกเลี่ยงสาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อมดังที่กล่าวไปข้างต้น เช่น ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณเข่า โดยเฉพาะกล้ามเนื้อต้นขา หลีกเลี่ยงท่าทาง/การเคลื่อนไหวที่มีแรงกดข้อเข่ามากๆ หรือหลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่อเข่าค่อนข้างสูง นอกจากนี้ การใช้ยาหรืออาหารเสริมอย่างเหมาะสมถูกวิธีตามที่แพทย์สั่ง จะช่วยป้องกันและชะลอการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399 Email:
[email protected]
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: